เมื่อวันที่ 25-26 มีนาคมที่ผ่านมา BIPAM ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน) เริ่มต้นบทสนทนาในธีม OWNERSHIP ประจำปี 2021 ด้วยกิจกรรม workshop เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ในศิลปะการแสดงและ “ห้องปฏิบัติการสู่อนาคต” อันเป็นส่วนหนึ่งงานกิจกรรมรณรงค์เชิงนโยบาย ทั้งสอง workshop นี้ได้ผลตอบรับที่ดีเยี่ยมทั้งด้านเนื้อหาและเครือข่าย
บทสนทนาทั้ง 2 วันเป็นไปอย่างเข้มข้นหลากหลาย BIPAM เชื่อว่าเนื้อหาเหล่านี้จะช่วยเติมช่องว่างของแวดวงศิลปะการแสดงร่วมสมัยและสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทุกท่านสามารถอ่านรายงานสรุปได้ที่นี่
วันที่ 25 มีนาคม 2564 Workshop ลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ในศิลปะการแสดง
ความมุ่งหวังในการจัดกิจกรรมวันนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อชี้ว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งผิดหรือถูกแต่เป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นกิจลักษณะ โดยเริ่มต้นจากตัวอย่างหลักการปฏิบัติทั่วไปในต่างประเทศ ก็คือตัวแทนจาก EU และรับทราบข้อกฎหมายที่เป็นจริงในประเทศไทยโดยตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาและทนายผู้เชี่ยวชาญ จากนั้น เป็นการพูดคุยถึงประสบการณ์จริงในกลุ่มย่อยเพื่อว่าเมื่อศิลปินจะต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์เรามีที่ที่เริ่มต้นด้วยกันได้และมีองค์ความรู้เบื้องต้นในการจัดการลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ได้อย่างถูกต้อง วงย่อยแบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ ) การนำผลงานไปแสดงในต่างประเทศ หรือการนำผลงานจากต่างประเทศมาแสดงในประเทศไทย 2) ลิขสิทธิ์และสิทธิของผู้สร้างสรรค์ผลงาน 3) การนำผลงาน/ส่วนหนึ่งของผลงานของผู้อื่นมาใช้ในงาน 4) การแปล/ แปลงผลงานที่มีอยู่แล้ว แต่ละวงย่อยก็มีเนื้อหาและข้อที่ควรพิจารณาที่ต่างกัน
วันที่ 26 มีนาคม 2564 Performing Arts Lab for Tomorrow ‘ห้องปฏิบัติการสู่อนาคตของศิลปะการแสดงร่วมสมัย’
BIPAM มุ่งให้เกิดการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดเสวนาบ่อยครั้งเกี่ยวกับหนทางการพัฒนาวงการศิลปะการแสดงในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วผู้จัดมักเป็นศิลปินหรือคนทำงานในประเด็นข้อสงสัยที่อยากแลกเปลี่ยนกับภาครัฐรวมถึงองค์กรต่างๆ อยู่เสมอ BIPAM จึงเลือกออกแบบวงสนทนาที่เชิญตัวแทนจากภาครัฐและภาคประชาสังคมให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อทบทวนวิสัยทัศน์และชี้แจงการดำเนินงานของแต่ละองค์กรให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน จากนั้น ต่อยอดไปว่าเราจะยื่นมือช่วยเหลือ เติมเต็มความต้องการให้กันและกันได้อย่างไรบ้าง อีกทั้ง ยังสามารถสื่อสารกับภาครัฐได้โดยตรงและเท่าเทียม
หลายความเห็นย้ำถึงปัญหาในด้านสถานที่ เงินทุน และกฎหมาย ที่ศิลปินและคนทำงานเผชิญหน้าอยู่มาเป็นเวลานานแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การพูดคุยครั้งนี้ทำให้เห็นความเป็นไปได้มากมายที่จะเกิดการร่วมมือได้ทั้งในเชิงวิสัยทัศน์และนโยบาย ฝั่งศิลปินเองก็ได้รับทราบเช่นกันว่าภาครัฐ ภาคประชาสังคมมีการดำเนินงานอะไรอยู่บ้าง วงสนทนาวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ร่วมกันสร้างสรรค์ Tomorrow หรือวันพรุ่งนี้ของของเราร่วมกัน ตามชื่อของงานประชุม
Comments